
สมัครสอบ ก.พ. คืออะไร
การสอบ ก.พ. คือ การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานให้หน่วยงานราชการ สมัครสอบ ซึ่งจะมีการจัดสอบเป็นประจำทุกปี มีทั้งแบบ Paper & Pencil และ e-Exam เรียกได้ว่า การสอบ ก.พ. ถือเป็นด่านแรกของผู้ที่สนใจเข้าสู่อาชีพสายงานราชการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ
- สอบภาค ก. (วัดความรู้ความสามารถทั่วไป)
- สอบภาค ข. (วัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง)
- สอบภาค ค. (วัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง)
สำหรับขั้นตอนการกรอกข้อมูลล่วงหน้า สมัครสอบ
1. เข้าเว็บไซต์ https://job3.ocsc.go.th เลือกเมนู “ระบบกรอกข้อมูลส่วนบุคคลล่วงหน้า เพื่อเตรียมการสอบ ภาค ก. ปี 2567 ของสำนักงาน ก.พ.”
2. อ่านรายละเอียด วัตถุประสงค์
3. กรอกข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนให้ถูกต้องครบถ้วน
4. กรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น และตรวจสอบความถูกต้องก่อนกด บันทึกข้อมูล
อย่างไรก็ตาม หากผู้กรอกข้อมูลล่วงหน้าได้เปลี่ยนชื่อ-สกุล หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนในระหว่างนี้ จะต้องทำการยืนยันข้อมูลส่วนตัวใหม่)

ทั้งนี้ “การกรอกข้อมูลล่วงหน้า” ไม่ใช่การสมัครสอบแต่อย่างใด แต่เป็นการทำเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ที่สนใจสมัครสอบ ภาค ก. ปี 2567 และเพื่อตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลผู้สอบผ่านภาค ก. ก่อนการรับสมัครจริง ซึ่งมีข้อดี ดังนี้
1. ตรวจสอบสถานะใบผ่านภาค ก. ของตนเองได้ก่อนวันรับสมัครจริง
2. การสมัครสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว
3. ช่วยลดความหนาแน่นในการเข้าเว็บไซต์ในวันรับสมัครสอบจริง

แต่ก่อนจะลงมือสมัครจริงนั้น ก่อนอื่นจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของ “ผู้มีสิทธิสมัครสอบ” เสียก่อนว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน หรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ดังนี้
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ
1. ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือเป็นผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2567 ระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในทุกสาขาวิชา
2. ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยสอบผ่าน หรือไม่มีหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ ความสามารถทั่วไประดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ของสำนักงาน ก.พ.
3. ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังต่อไปนี้
คุณสมบัติทั่วไป
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี (นับถึงวันปิดรับสมัครสอบ)
- เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ลักษณะต้องห้าม
1. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2. เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
3. เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
4. เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
5. เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
6. เป็นบุคคลล้มละลาย
7. เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
8. เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
9. เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
10. เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
11. เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบข้ารับราชการ หรือเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ.